เลือกตั้ง อบจ. : วิเคราะห์เพื่อไทยยึดฐาน อบจ. ก่อนเลือกตั้ง 70 ทักษิณ “สิ้นลาย” หรือยัง “มีอิทธิฤทธิ์”?

เลือกตั้ง อบจ. : วิเคราะห์เพื่อไทยยึดฐาน อบจ. ก่อนเลือกตั้ง 70 ทักษิณ “สิ้นลาย” หรือยัง “มีอิทธิฤทธิ์”?

ที่มาของภาพ, พรรคเพื่อไทย

แม้พรรคเพื่อไทย (พท.) สามารถเก็บชัยชนะในสนามการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้ถึง 10 ที่นั่ง จากที่ส่งผู้สมัครทั้งหมด 16 คน แต่การพลาดท่า-เสียเก้าอี้เดิมให้พรรคประชาชน (ปชน.) ปักธงสำเร็จที่แรกที่จังหวัดลำพูน ถือเป็นความเสียหายใหญ่สำหรับพรรคสีแดง

ปัจจุบันพรรค พท. กับพรรค ปชน. (พรรคก้าวไกลเดิม) มี สส.ลำพูน พรรคละ 1 คน โดยพรรคสีส้มซึ่งตกที่นั่งฝ่ายค้านมา 2 สมัย ขอโอกาสได้เข้าไป “บริหารท้องถิ่น” ก่อนเสนอตัวบริหารประเทศในปี 2570

นอกจากนี้ในกลุ่มจังหวัดที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยรณรงค์หาเสียงรวม 8 จังหวัด ยังพ่ายแพ้ไปถึงครึ่งหนึ่ง 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย, ลำพูน, บึงกาฬ, ศรีสะเกษ โดยมีผู้สมัครอิสระ/กลุ่มการเมืองที่เป็นเครือข่าย “ค่ายน้ำเงิน” เป็นผู้ยัดเยียดความปราชัยให้

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้นิยามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ทักษิณสิ้นลาย”

ศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ. เมื่อ 1 ก.พ. มีผู้สมัครจากพรรค พท. ทั้งสิ้น 16 คน โดย 14 คนสวมเสื้อพรรค พท. ลงสนามอย่างเป็นทางการ และอีก 2 คนลงสมัครในนามสมาชิกพรรค

เมื่อรวมกับยอดนายก อบจ. ที่มีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ 29 จังหวัด โดยผู้สมัครจากเพื่อไทยและเครือข่ายคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง-ยึดเก้าอี้ไปได้ 11 ที่นั่ง นั่นเท่ากับว่า พรรค พท. สามารถยึดกุมอำนาจฝ่ายบริหารจังหวัดผ่านอี้นายกเล็กทั้งหมด 21 คน

บีบีซีไทยวิเคราะห์อิทธิฤทธิ์ ทักษิณ และผลที่ตามมาหลังพรรคแกนนำรัฐบาลยึดเก้าอี้นายก อบจ. ได้บางส่วน-เสียบางส่วน

พ่อนายกฯ เดินสาย 8 จว. ขึ้นปราศรัย 24 เวที

พรรค พท. ทำผลงานในสนาม อบจ. รอบนี้ได้ดีกว่าเมื่อปี 2563 เล็กน้อย โดยครั้งนั้นนำนายก อบจ. ถึงฝั่งฝันเพียง 9 คน จากที่ส่งผู้สมัครในนามพรรค 25 คน หรือคิดเป็น 36% ของยอดส่งสมัครเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงนี้เชื่อกันว่าเป็นผลโดยตรงจากความเคลื่อนไหวของ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ที่คนเพื่อไทยต่างเรียกขานว่า “นายใหญ่”

ทักษิณ เปิดหน้า-เปิดตัวบนเวทีการเมืองอย่างเป็นทางการในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรค พท. เมื่อ 13-14 พ.ย. 2567 ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ซึ่งเลือกกันไปตั้งแต่ปีก่อนหลังจากนายกคนเดิมชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

อุดรธานีได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” โดยประชาชนบางส่วนได้สวมเสื้อแดงมารอฟังการปราศรัยของ ทักษิณ เมื่อ 14 พ.ย.

ที่มาของภาพ, Wasawas Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อุดรธานีได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” โดยประชาชนบางส่วนได้สวมเสื้อแดงมารอฟังการปราศรัยของ ทักษิณ เมื่อ 14 พ.ย.

คำสำคัญที่อดีตนายกฯ วัย 75 ปี สื่อสารกับโหวตเตอร์คือ “ผมกลับมาแล้ว” และยังตั้งตำแหน่งให้ตัวเองเป็น “สทร.” ซึ่งเขาแปลความหมายเอาไว้ว่า “เสือกทุกเรื่อง”

ผลจากการโดดขึ้นเวทีปราศรัยของ “อดีตผู้นำขวัญใจชาวรากหญ้า” ถูกแปรเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ชัยชนะของ ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรฯ เขต 1 พรรค พท. ที่ผันตัวมาเล่นการเมืองท้องถิ่นหลังถูกยัดเบียดสถานะ “สต.” (สอบตก) ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 โดยรอบนี้เขามีชัยเหนือผู้สมัครจากพรรคประชาชน (ปชน.) ด้วยคะแนนทิ้งห่างราว 5.8 หมื่นแต้ม (ได้คะแนนเสียง 327,487 ต่อ 268,675 คะแนน)

ทักษิณ วิดีโอคอลไปแสดงความยินดีกับ ศราวุธและทีมงาน และขอบคุณประชาชนชาวอุดรฯ “ที่จะให้ผมกลับไปอุดรฯ โดยไม่ต้องสวมหน้ากากหรือคลุมปี๊บ”

จากนั้น ทักษิณ โดดขึ้นเวทีหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี เป็นสนามที่ 2 เมื่อ 11 ธ.ค. 2567 และไม่ทำให้กองเชียร์ต้องผิดหวัง เมื่อ กานต์ กัลป์ตินันท์ จากเพื่อไทยคว้าชัยไปด้วยคะแนนเสียง 387,456 คะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครอิสระ ทว่านามสกุลหวังศุภกิจโกศล-เป็นคนร่วมตระกูล รมต. สังกัดเพื่อไทยราว 6.4 หมื่นแต้ม และชนะขาดผู้สมัครจากพรรค ปชน. ซึ่งมีคะแนนเป็นอันดับ 3 แต่คะแนนห่างกันถึง 2.4 แสนแต้ม

เช่นเคย ทีมเพื่อไทยยกความสำเร็จให้เป็นผลงานของ “นายใหญ่”

“ที่สำคัญท่านทักษิณมาช่วย พวกเราเสื้อแดงในอุบลฯ มีกำลังใจ หลังจากที่ท่านทักษิณมา กระแสตีตื้น จนมีชัยชนะในวันนี้” เกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต รมช.มหาดไทย ซึ่ง ทักษิณ เรียกว่าเป็น “คนเก่าคนแก่” แถลงเปิดใจในระหว่างน้องชายของเขาประกาศชัยชนะเมื่อ 23 ธ.ค. 2567

ต่อมาเมื่อถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. ล็อตใหญ่ พร้อมกัน 47 จังหวัด ทักษิณ เดินสายลงพื้นที่ 8 จังหวัดที่เพื่อไทยส่งผู้สมัคร ขึ้นปราศรัยรวม 24 เวทีในรอบเดือน โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา อดีตนายกฯ คนเหนือประกาศ “แพ้ไม่ได้” และยังเดินทางลงพื้นที่ซ้ำ 2 รอบ ขึ้นปราศรัยที่นั่นรวม 6 เวที

  • 23-24 ธ.ค. 2567 หาเสียง จ.เชียงใหม่ ปราศรัย 4 เวที
  • 5 ม.ค. หาเสียง จ.เชียงราย ปราศรัย 3 เวที
  • 18 ม.ค. หาเสียง จ.นครพนม ปราศรัย 3 เวที
  • 19 ม.ค. หาเสียง จ.บึงกาฬ และหนองคาย ปราศรัยจังหวะละเวที รวม 2 เวที
  • 20 ม.ค. หาเสียง จ.มหาสารคาม ปราศรัย 3 เวที
  • 24-25 ม.ค. หาเสียง จ.ศรีสะเกษ ปราศรัย 4 เวที
  • 29 ม.ค. หาเสียงซ้ำที่ จ.เชียงราย ปราศรัย 2 เวที
  • 29-30 ม.ค. หาเสียงซ้ำที่ จ.เชียงใหม่ ปราศรัย 2 เวที
  • 30 ม.ค. หาเสียง จ.ลำพูน ปราศรัย 1 เวที

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากกำหนดการที่ทีมหาเสียง อบจ. ของพรรค พท. เผยแพร่ต่อสาธารณะ

พรรคเพื่อไทย

ที่มาของภาพ, พรรคเพื่อไทย

ทีมหาเสียงเพื่อไทยเคยบอกกับบีบีซีไทยว่า ถ้า ทักษิณ ลงพื้นที่จังหวัดไหนแล้วแพ้ “ไม่ใช่แค่ผู้สมัครนายก อบจ. แต่ สส. เจ้าของพื้นที่ก็ส่อหมดอนาคตทางการเมือง” ดังนั้นทุกคนต้องเอาจริงเอาจังกับสนาม อบจ.

ทว่าผลที่ออกมากลับไม่เป็นดังคาด โดยเฉพาะที่ จ.ศรีสะเกษ ที่ ทักษิณ ปราศรัยย้ำยุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” แต่ค่ายแดงก็ยังแพ้โครงข่ายค่ายน้ำเงินไปกว่า 1.2 แสนคะแนน

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ผู้มีชื่อเล่นว่า “หนู” ร่วมแสดงความยินดีกับชัยชนะของ วิชิต ไตรสรณกุล เขาถูกสื่อถามว่า หลังจากนี้ไล่หนูจากศรีสะเกษไม่ได้แล้วหรือไม่ อนุทิน หัวเราะก่อนตอบว่า “มาดี จะไปไล่ทำไม ผมไปไหน ผมไม่เคยมาร้ายเลย… อย่าไล่เลย เลี้ยงหนูเอาไว้สักตัว มาช่วยราชสีห์ ราชสีห์(สะเกษ) มั่นใจว่าหนูตัวนี้จะไม่ทำให้ชาวศรีสะเกษผิดหวัง”

สิ่งที่ได้อะไรจากสนาม อบจ.

แล้วผู้มีบารมีเหนือพรรคสีแดง จะได้อะไรจากสนาม อบจ?

“ได้โม้สิ” สติธร กล่าวติดตลกกับบีบีซีไทย ก่อนบอกว่า ถ้าดูจากเวทีหาเสียงแรกที่ จ.อุดรฯ อดีตนายกฯ บอกว่า “ผมกลับมาแล้ว คราวหน้าเอาอีกนะ เอา (คะแนน) ให้มากกว่านี้”

ทว่าภายใต้ท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง-อหังการของ “นายใหญ่” สติธร ตีความอาการชีพจรลงเท้าของผู้ช่วยหาเสียงรายนี้ว่า เป็นเพราะรู้ดีว่างานหนักกว่าเดิมมาก เพราะถ้าย้อนไปดูช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ทักษิณ ไม่เหนื่อยขนาดนี้ รอบนี้อาจเป็นความมุ่งมาดปรารถนาส่วนตัวหลังจากห่างหายจากเวทีเมืองไทยไปนาน จึงกระตือรือร้น อยากไปลงเวที แต่มันก็ไม่ขนาดว่าไป 1 จังหวัดต้องขึ้นปราศรัย 3 อำเภอ

“สมัยก่อน เขาไปจังหวัดเดียวแล้วเกณฑ์คนมาฟังเวทีใหญ่เวทีเดียว แต่นี่ไปรายอำเภอ แต่ก็ยังได้ (คะแนน) แค่นั้น ถ้าเป็นยุคก่อน ยี่ห้อทักษิณลองออกแรงขนาดนี้ อุดรฯ ต้อง 4 แสน (คะแนน) ขึ้นไปแล้ว หรือเชียงใหม่บ้านเกิดทำไมต้องไปหลายรอบ ก็แปลว่าไม่ชัวร์ รู้สึกว่าน่าจะได้ แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะเคยโดนกวาด สส. ไป 7 เขต (จากทั้งหมด 10 เขต) เกิดกระแสมันคาอยู่จะทำอย่างไร คงมีบ้างที่ใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ก็เลยต้องไปย้ำ” นักวิชาการผู้ติดตามการเมืองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจกล่าว

จากการติดต่อข่าวสาร-ความเคลื่อนไหวของพ่อนายกฯ ในศึก อบจ. อาจารย์สติธรพบว่า สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือ ลีลาการแสดงการเมือง การสื่อสาร และคุยกับมหาชน “ยังท็อปฟอร์ม” และบารมีหลังม่าน “ยังขลังอยู่” ลงพื้นที่ไปก็สามารถเรียกหัวคะแนนเก่ากลับมาได้ ส่วนสิ่งที่ต่างออกไปคือผลลัพธ์

“ต่อให้หน้าเวทีแสดงได้ดี หลังเวทีไปกวาดต้อนคนเก่า ๆ กลับมาได้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้เท่าเดิม ถ้าคะแนนน้อยลงหรือเท่าเดิม สำหรับยี่ห้อทักษิณต้องถือว่าไม่ได้ สมัยก่อนถ้าท็อปฟอร์มขนาดนี้ ต้องแลนด์สไลด์ไปแล้ว เมื่อก่อนไทยรักไทยกวาดยกจังหวัด เวลาชนะคู่แข่ง ชนะแบบไม่เห็นหัวเลย แต่รอบนี้ชัดเจนว่าคุณทำได้แค่หยุดเลือดไม่ให้ไหลเพิ่ม แดงเทิร์นส้ม (คนเสื้อแดงเปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคส้ม) หยุดแค่ตรงนี้ ยังไม่เทิร์นเพิ่ม คนที่มีทีท่าว่าจะเทิร์น อาจจะไม่เทิร์น แต่ถามว่าคนที่เทิร์นส้มไปแล้วจะเทิร์นกลับมาไหม ไม่ คนไม่เคยเป็นแดงจะหันมาหาแดงไหม ไม่ คือทำได้แค่รักษาของเดิม”

ทักษิณ สวมเสื้อแดงปราศรัยปิดที่ จ.บ้านเกิด ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีนพอดี โดยเขาบอกาวเชียงใหม่ว่า “ให้ประชาชนใส่เสื้อสีแดงและกินส้มให้ได้ เพราะเลือกตั้งคราวที่แล้ว ไปเลือกพรรคส้ม 7 คน จาก 10 คน”

ที่มาของภาพ, พรรคเพื่อไทย

คำบรรยายภาพ, ทักษิณ สวมเสื้อแดงปราศรัยปิดที่ จ.บ้านเกิด ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีนพอดี โดยเขาบอกาวเชียงใหม่ว่า “ให้ประชาชนใส่เสื้อสีแดงและกินส้มให้ได้ เพราะเลือกตั้งคราวที่แล้ว ไปเลือกพรรคส้ม 7 คน จาก 10 คน”

แต่ถึงกระนั้น สติธร เห็นว่า สนามเลือกตั้งท้องถิ่นถูกใช้เป็นพื้นที่ทดสอบพลังของ ทักษิณ ได้เป็นอย่างดี เมื่อบุคคลระดับอดีตนายกฯ ลงมาลุยขนาดนี้ ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่ได้จึงหมายถึงคะแนนในแต่ละสนาม

“คุณทักษิณต้องเอาตัวเองมาทดลองแบบนี้ก่อนถึงสนามเลือกตั้งระดับชาติ มันคือการทำวิจัยไปในตัว ใส่ปัจจัยตัวเองเข้าไปให้เต็มที่ที่สุด แล้วดูสิ พอถึงระดับชาติต้องใส่อะไรเข้าไปอีกเพื่อให้ชนะพรรคประชาชน”

ไม่มีใครรู้ว่าในใจของ ทักษิณ เป็นอย่างไรก่อนลงไปเหยียบแต่ละสนาม “เกร็ง-กลัว-ชัวร์”? แต่ สติธร เห็นว่าพ่อนายกฯ จำเป็นต้องลุย ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางได้รู้คำตอบ

“ถ้าไม่ลอง นอนอยู่บ้านยิ้ม ๆ แล้วถ้าแพ้ ก็มาคิดเองเออเองว่าอ๋อเพราะเราไม่ไป มันต้องเสี่ยง คุณทักษิณก็ยังย้ำ Hight Risk Hight Return (เสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง) ไม่เสี่ยงจะได้ผลตอบแทนได้อย่างไร แบบนี้ละที่ทำให้คนรู้สึกว่าผู้นำต้องแบบนี้ และนี่คือยี่ห้อทักษิณที่คุ้นเคย จะมาทำอะไรกั๊ก ๆ หลบ ๆ มันไม่ใช่” เขาสรุป

ความมั่นใจของ ทักษิณ ค่อย ๆ แผ่วลงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนประชาชนจะได้เข้าคูหาเลือกตั้ง เพราะถ้าย้อนดูคำให้สัมภาษณ์ของเขาระหว่างเดินสายหาเสียงที่อีสานเมื่อ 18 ม.ค. ทักษิณ บอกว่า “จากที่ทำโพลแล้วก็ดูดี น่าจะชนะเยอะ” และ “ที่ส่งในนามพรรคเพื่อไทยดูแล้วน่าจะชนะทุกที่”

ทว่าเมื่อถึงวันสุดท้ายที่เขาเดินสายหาเสียงอยู่ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทักษิณ กลับลดเป้าโดยกล่าวว่า “พรรคเพื่อไทยน่าจะได้เกินครึ่งของที่ส่ง”

“แม้วเป็นตัวของตัวเอง”

ในอดีตคนคิดถึง ทักษิณ ทั้งในฐานะ “ผู้อุปถัมภ์” ทางการเมืองผ่านนโยบายประชานิยม และ “ผู้ถูกกระทำ” ด้วยรัฐประหาร 2549 ทว่าเมื่อเขารับ “ซูเปอร์ดีล” จนสามารถกลับบ้านเกิด-ได้หวนกลับมาโลดแล่นบนเวทีการเมืองอีกครั้ง คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทักษิณในปัจจุบันเป็นตัวแทนของอุดมการณ์อะไร?

“พอลงสนามปุ๊บ คุณทักษิณก็เป็นตัวแทนของตัวเอง ในสนามเลือกตั้งจะมาบอกว่าเป็น proxy (ตัวแทน) ให้ผู้มีอำนาจก็ไม่ได้นะ เพราะเขาไม่สามารถไปขายอะไรแบบนั้นได้ ซึ่งผู้มีอำนาจก็เข้าใจ แกก็เป็นตัวของตัวเองเพื่อให้ได้คะแนน เรื่องความภักดีต้องไปหาผู้เล่นตัวอื่น” สติธร ระบุ

นายกฯ อุ๊งอิ๊ง และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมวง ครม. ของเธอ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, นายกฯ อุ๊งอิ๊ง และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมวง ครม. ของเธอ

คำจำกัดความของการ “เป็นตัวของตัวเอง” ที่นักวิชาการรายนี้พูดถึงคือ ต้องรักษาตัวตนที่คนเคยเข้าใจว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อน และมองการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าสู่อำนาจ

อย่างไรก็ตามเขาประเมินว่า โหวตเตอร์ฟังแล้วอาจมีคนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง คนโหวตให้พรรคแดงอย่างไรก็เชื่อ หรืออาจเชื่อเพราะไม่แคร์ ส่วนคนที่โหวตให้พรรคส้ม บางส่วนอาจเชื่อว่ามันมีความจำเป็น มีดีล ถ้าไม่มีเงื่อนไขบังคับ ทักษิณ ก็เป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั่นแหละ ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็เพราะตั้งคำถามว่าพรรค พท. เป็นพรรคประชาธิปไตยตรงไหน มันมีแต่การคิดจากข้างบน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” และ “ทักษิณพูด รัฐบาลตาม”

“ต่อให้ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่คุณเป็นประชาธิปไตยในแง่ยึดมั่นว่าเข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง มองประชาธิปไตยที่เป้าหมาย ทางเข้าคือเลือกตั้ง ปลายทางคืออำนาจ ตรงกลางฉันไม่สน สนใจแต่ทางเข้ากับทางออก ไม่สนใจตรงกลาง” สติธร สะท้อนมุมมอง

ไม่ว่าขึ้นเวทีไหน พ่อนายกฯ มักเอ่ยถึงตำแหน่ง สทร. ของเขา และพยายามสื่อสารว่าทำไมถึงมายืนอยู่ตรงนี้

“บ้านเมืองนี้หลังจากที่ผมออกไปก็ขาดการบริหารอย่างมีเป้าหมายไปเยอะ ก็เหมือนการบริหารที่ไม่บริหาร บ้านเมืองจึงแย่ไปหลายจุด… ในฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และได้รับพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ ให้ผมได้กลับมารับใช้ประชาชน จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเราอยู่อย่างมีความสุข” อดีตนายกฯ คนที่ 23 กล่าว ในระหว่างหาเสียงที่ จ.นครพนม เมื่อ 18 ม.ค.

คำพูดของ ทักษิณ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจากนั้น บ้างก็เห็นว่าเขาจงใจสื่อสารเพื่อทำให้สังคมเชื่อว่ารับ “ภารกิจ” บางประการมาทำ บ้างก็ว่ามองว่าเขาพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของตัวเองบนเวทีการเมือง บ้างก็โจมตีว่าเป็นการกระทำมิบังควรที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดบางอย่างได้ และเรียกร้องให้ กกต. เข้ามาดูแล “อย่าให้คนเอาสถาบันฯ มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง”

อดีตนายกฯ คนที่ 23 มักอ้างถึงการ “เจรจากับพระเจ้า” อยู่บ่อย ๆ เช่น ในระหว่างปราศรัยที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 25 ม.ค. เขากล่าวว่า “ให้ผมออกจากประเทศไทย 17 ปี ผมขอคืน ให้ผมมารับใช้ประชาชนอีก 17 ปี”

ที่มาของภาพ, พรรคเพื่อไทย

คำบรรยายภาพ, อดีตนายกฯ คนที่ 23 มักอ้างถึงการ “เจรจากับพระเจ้า” อยู่บ่อย ๆ เช่น ในระหว่างปราศรัยที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 25 ม.ค. เขากล่าวว่า “ให้ผมออกจากประเทศไทย 17 ปี ผมขอคืน ให้ผมมารับใช้ประชาชนอีก 17 ปี”

แต่ก่อนอดีตนายกฯ คนที่ 23 ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ผี” มา พ.ศ. นี้มองเป็นอะไร?

“กระสุนอาคม” สติธร ตอบ ก่อนขยายความว่า ทักษิณได้กลายเป็นความหวังของผู้ทรงอำนาจ อย่างที่มีการวิเคราะห์กันว่าดีลนี้เพื่อเอามาปราบส้ม เอาผีมาปราบปิศาจ

“คนที่เห็นทักษิณเป็นผีก็ยังเป็นผี คนที่เห็นว่าเป็นพ่อก็ยังเป็นพ่อ แต่คนที่เอามาใช้งานเห็นเป็นกระสุนอาคม คืออาวุธเดียวที่มาปราบส้ม” เขาวิเคราะห์

ทว่าปรากฏการณ์ “พรรคส้มล้มแชมป์” ที่ลำพูน ย่อมทำให้ผู้ใช้งาน-คนทั่วไปตั้งคำถามได้ว่ากระสุนนัดนี้ยังขลัง?

เส้นทางสู่ทำเนียบฯ ของเพื่อไทย

แต่ถึงกระนั้นเมื่อพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาลเก็บชัยชนะในศึก อบจ. ในพื้นที่เป้าหมายได้บางส่วน-มีฐานท้องถิ่นตุนไว้ในกระเป๋า ย่อมส่งผลต่อยอด สส. ในสมรภูมิเลือกตั้ง 2570 อย่างมิต้องสงสัย

“ทำไมผมถึงมาบุก อบจ. การเมืองท้องถิ่น เพราะว่าผมต้องการเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น” ทักษิณ กล่าวระหว่างปราศรัยที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 26 ม.ค.

ในรอบเดือนที่ผ่านมา พลพรรคเพื่อไทยพยายามชี้ชวนให้โหวตเตอร์คล้อยตามว่า “รัฐบาลกลางกับท้องถิ่นต้องเชื่อมกัน” และ “อบจ. เป็นกลไกสำคัญที่จะเป็นมือไม้ให้รัฐบาลทำงานให้ประชาชนได้” ทำให้เวทีหาเสียง อบจ. ถูกใช้เป็นเวทีทบทวนผลงานในอดีตของรัฐบาลไทยรักไทย และชิงประกาศนโยบายชุดใหม่-ความตั้งใจของรัฐบาลลูกสาว

นอกจากนี้ ทักษิณ ยังเน้นย้ำอยู่บ่อย ๆ ว่าต้องการทวงคืน สส. ให้กับพรรค พท. เพราะ “คราวที่แล้วได้น้อยไปหน่อย มีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ ทำงานได้ แต่ช้า คราวหน้าให้มีพรรคร่วมฯ น้อย ๆ เอาเพื่อไทยเยอะ ๆ รับรองว่าทำงานแล้วจะรวยเหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย มันใหญ่ ทำงานได้เร็ว เพราะรัฐมนตรีอยู่ด้วยกัน อยู่สังกัดเดียวกันหมด ไม่มีเลศนัยเล่ห์เหลี่ยม”

ในระหว่างหาเสียงที่ จ.ลำพูน เมื่อ 30 ม.ค. เขาประกาศความมั่นใจว่า “เลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อไทยจะมาอันดับ 1 หนัก ๆ คะแนน 200 ปลาย ๆ”

สติธร ธนานิธิโชติ ระบุว่า สูตรสำเร็จในสนาม อบจ. เกิดจากพลังของ “บ้านใหญ่+พรรคใหญ่”

ที่มาของภาพ, Handout

คำบรรยายภาพ, สติธร ธนานิธิโชติ ระบุว่า สูตรสำเร็จในสนาม อบจ. เกิดจากพลังของ “บ้านใหญ่+พรรคใหญ่”

สติธร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทักษิณ เล่นเกมยึดท้องถิ่นมาเป็นฐาน เพื่อให้สามารถต่อยอดในการเลือกตั้งระดับชาติปี 2570 ได้ “งานนี้คุณทักษิณเล่นรอบเดียว แต่ได้ 2 ต่อ เพราะเขาเชื่อว่าหากเล่นเกมให้ ‘บ้านใหญ่’ ยึดท้องถิ่นไว้ก่อน ก็จะใช้บ้านใหญ่เป็นฐานสำหรับการต่อสู้การเมืองระดับชาติต่อไป”

จากนี้พรรค พท. สามารถต่อยอดความสำเร็จจากสนาม อบจ. ไปสู่สนามเลือกตั้งทั่วไปปี 2570 ได้ ซึ่งการมีฐานการเมืองท้องถิ่นตุนไว้เขตเลือกตั้งละ 15,000-20,000 คะแนน จะเป็นต้นทุนสำคัญ เมื่อถึงช่วงเลือกตั้ง สส. พรรค พท. ก็ค่อยเดินเกมสร้างกระแสสู้กับพรรค ปชน.

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 พรรค พท. ต้องประสบความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษนับจากก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และสืบทอดมาถึงเพื่อไทย โดยตกที่นั่งพรรคอันดับ 2 ของสภา ด้วยยอด สส. น้อยกว่าพรรคก้าวไกลซึ่งปัจจุบันคือพรรคประชาชน 10 เสียง (151 ต่อ 141 คน)

แม้พรรคอันดับ 2 ของสภาจะพลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วได้สำเร็จ ส่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเข้าทำเนียบฯ ได้ 2 คน ทว่าในระหว่างทางต้องเผชิญกับการถูกพรรคร่วมฯ “ขบเหลี่ยม-แข็งขืน” เป็นระยะ ๆ จน ทักษิณ หลุดปากวิจารณ์รัฐมนตรีในรัฐบาล “แพทองธาร” ต่อสาธารณะเรื่องการทำตัวเป็น “อีแอบ” มี “เล่ห์เหลี่ยม”

พรรคเพื่อไทย

ที่มาของภาพ, พรรคเพื่อไทย

line

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างไม่เป็นทางการ พบว่า พรรค พท. ต้องเสียที่นั่งเป้าหมายให้แก่พรรค ปชน. 1 ที่นั่งใน จ.ลำพูน และให้ผู้สมัครจากกลุ่มการเมือง/อิสระ ทว่าป็น “พรรคพวก” ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถึง 5 ที่นั่ง ทั้งใน จ.เชียงราย บึงกาฬ ศรีสะเกษ มุกดาหาร อำนาจเจริญ

โดยมีอยู่ 4 จากทั้งหมด 8 จังหวัดที่ “สทร.” ไปช่วยหาเสียง แต่ผู้สมัครเพื่อไทยต้องพ่ายแพ้ไป

บีบีซีไทยตรวจสอบผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ. ที่เสร็จสิ้นลงแล้ว และเผยแพร่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยขอประมวลเฉพาะข้อมูลผู้สมัครภายใต้แบรนด์พรรคสีแดงมาไว้ ณ ที่นี้ ทั้งนี้จังหวัดที่มีเครื่องหมาย * คือจังหวัดที่อดีตนายกฯ ไปช่วยหาเสียง

ในวันที่ 1 ก.พ. มีการเลือกตั้งนายก 47 จังหวัด และ ส.อบจ. 76 จังหวัด โดยมีหน่วยเหลือตั้งรวม 90,715 หน่วย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ในวันที่ 1 ก.พ. มีการเลือกตั้งนายก 47 จังหวัด และ ส.อบจ. 76 จังหวัด โดยมีหน่วยเหลือตั้งรวม 90,715 หน่วย

ภาคเหนือ ชนะ 4 จาก 6 จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร

  • เชียงใหม่* พิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ (สมัครในนามสมาชิกพรรค พท.) แชมป์เก่า ได้ 379,341 คะแนน ขณะที่อันดับ 2 คือ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ สังกัดพรรค ปชน. ได้ 358,386 คะแนน
  • เชียงราย* อทิตา วันไชยธนพงศ์ ผู้สมัครอิสระ แชมป์เก่า ได้ 249,845 คะแนน ขณะที่ สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช อดีต นายก อบจ.เชียงราย สังกัดพรรค พท. ภรรยา ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภา ได้ไป 230,262 คะแนน
  • น่าน นพรัตน์ ถาวงศ์ อดีต นายก อบจ.น่าน สังกัดพรรค พท. แชมป์เก่า ได้ 124,151 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ สันติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้สมัครอิสระ ที่ได้ 38,506 คะแนน
  • แพร่ อนุวัธ วงศ์วรรณ อดีต นายก อบจ.แพร่ 4 สมัย สังกัดพรรค พท. แชมป์เก่า ได้ 124,750 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ ประสงค์ ชุ่มเชย กลุ่มแพร่พัฒนา ได้ 74,934 คะแนน
  • ลำปาง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ.ลำปาง สังกัดพรรค พท. แชมป์เก่า ได้ 189,863 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ ดาชัย เอกปฐพี กลุ่มพลังลำปาง ได้ไป 99,846 คะแนน
  • ลำพูน* วีระเดช ภู่พิสิฐ สังกัดพรรค ปชน. คว้าชัยชนะเหนือคาดด้วยคะแนน 109,530 คะแนน ขณะที่ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.ลำพูน สังกัดพรรค พท. แชมป์เก่า ได้ 103,511 คะแนน

เลือก อบจ.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นายก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ภาคอีสาน ชนะ 5 จาก 9 จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร

  • นครราชสีมา ยลดา หวังศุภกิจโกศล อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา สังกัดพรรค พท. แชมป์เก่า ได้ 482,316 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ มารุต ชุ่มขุนทด กลุ่มพัฒนาเมืองโคราช ที่ได้ 150,919 คะแนน
  • สกลนคร นฤมล สัพโส ภรรยาของ พัฒนา สัพโส สส.สกลนคร สังกัดพรรค พท. ได้ 228,530 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ ชูพงศ์ คำจวง กลุ่มพลังสกลนคร แชมป์เก่า ที่ได้ 96,082 คะแนน
  • หนองคาย* วุฒิไกร ช่างเหล็ก สังกัดพรรค พท. ได้ 57,255 คะแนน ส่วนอันดับ 2 คือ ยุทธนา ศรีตะบุตร กลุ่มรักหนองคาย แชมป์เก่า ได้ไป 55,736 คะแนน
  • มหาสารคาม* พลพัฒน์ จรัสเสถียร น้องชายของ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต สส.มหาสารคาม สังกัดพรรค พท. ได้ 283,580 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ คมคาย อุดรพิมพ์ ผู้สมัครอิสระ แชมป์เก่า ที่ได้ 99,783 คะแนน
  • นครพนม* อนุชิต หงษาดี อดีต นายก อบต.โพนสวรรค์ สังกัดพรรค พท. ได้ 170,133 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ ศุภพานี โพธธิ์สุ กลุ่มนครพนมร่วมใจ แชมป์เก่า ที่ได้ 139,885 คะแนน
  • บึงกาฬ* แว่นฟ้า ทองศรี กลุ่มนครนาคา แชมป์เก่า ได้ 92,396 คะแนน ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บึงกาฬ สังกัดพรรค พท. พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนน 66,216 คะแนน
  • ศรีสะเกษ* วิชิต ตรสรณกุล กลุ่มคนรักท้องถิ่น แชมป์เก่า ได้ 345,467 คะแนน ขณะที่ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีต สส.ศรีสะเกษ สังกัดพรรค พท. พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนน 219,443 คะแนน
  • มุกดาหาร วีระพงษ์ ทองมา ผู้สมัครอิสระ ได้ 83,707 คะแนน ขณะที่ บุญฐิณ ประทุมลี อดีต สส.มุกดาหาร สังกัดพรรค พท. พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนน 46,547 คะแนน
  • อำนาจเจริญ พนัส พันธุ์สุวรรณ กลุ่มภูมิใจไทอำนาจ เครือข่ายแชมป์เก่า ได้ 17,652 คะแนน ขณะที่ ดะนัย มะหิพันธุ์ อดีต สส.อำนาจเจริญ (สมัครในนามสมาชิกพรรค พท.) พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนน 10,981 คะแนน

ภาคตะวันออก ชนะ 1 จาก 1 จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร

  • ปราจีนบุรี ณภาภัช อัญชสาณิชมน หรือ “สจ.จอย” ภรรยาของ ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ “สจ.โต้ง” ที่เสียชีวิตกลาง “บ้านใหญ่” ของ สุนทร วิลาวัลย์ อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรี เมื่อ ธ.ค. 2567 ชนะไปด้วยคะแนน 121,304 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ จำรูญ สวยดี สังกัดพรรค ปชน. ที่ได้ 55,913 คะแนน